วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กลูต้าไธโอน เพื่อผิวขาวและขับสารพิษ

กลูต้าไธโอน (glutathione) หรือเรียกย่อ GSH (γ-glutamyl-cysteinyl- glycine; GSH) เป็นสารที่อยู่ในเซลล์ร่างกายที่มนุษย์หรือสัตว์สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ ปัจจุบันเป็นสารที่นิยมใช้ในด้านความสวยความงามเพื่อผิวขาว และเป็นอาหารเสริม ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
กลูต้าไธโอน เป็นสารในกลุ่มไตรเปปไทด์ (tripeptide) ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ชนิดยึดเกาะกัน คือ กลูตามีน (glutamine) ซีสตีอีน (cystenine) และไกลซีน (glycine) โดยมีสารประกอบซัลไฮดริก (SH) ร่วมเกาะบริเวณตำแหน่งซีสตีอีน มีสูตรเป็น C10H17N3O6S
กลูต้าไธโอน ในร่างกายพบมากในเซลล์ในส่วนของ cytosol ของเซลล์ประมาณร้อยละ 85-90 ส่วนที่เหลือพบที่องค์ประกอบต่างๆของเซลล์ เช่น ไมโตคอนเดรีย เป็นต้น ส่วนของนอกเซลล์พบในปริมาณน้อย เช่น ในเลือดพบ 2-20 มิลลิโมล/ลิตร เท่านั้นกลูต้าไธโอน เป็นสารในกลุ่มไตรเปปไทด์ (tripeptide) ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ชนิดยึดเกาะกัน คือ กลูตามีน (glutamine) ซีสตีอีน (cystenine) และไกลซีน (glycine) โดยมีสารประกอบซัลไฮดริก (SH) ร่วมเกาะบริเวณตำแหน่งซีสตีอีน มีสูตรเป็น C10H17N3O6S
สถานะกลูต้าไธโฮน
อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกลูต้าไธโอนจัดเป็นอาหารเสริมชนิดกรดอะมิโนถูกขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำหนดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา ฉบับราชกิจนุเบกษา 18 ตุลาคม 2549 ที่กำหนดให้มีส่วนประกอบของแอล-กลูต้าไธโอน (L-glutathione) ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่แนะนำให้รับประทานได้ไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/วัน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของแอล-กลูต้าไธโอน มากกว่า 250 มิลลิกรัม จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณส่วนประกอบเกินค่ากำหนด
ฤทธิ์ทางยาของกลูต้าไธโอน
1. ต้านอนุมูลอิสระ และกำจัดสารพิษภายในเซลล์
กลูต้าไธโอนสามารถถูกออกซิไดซ์ด้วยสารอนุมูลอิสระหรือสารพิษกลายเป็น GSSG ได้ง่าย นั่นหมายความว่า อัตราส่วนของ GSH กับ GSSGจะชี้บ่งถึงอัตราการเกิดออกซิไดซ์อนุมูลอิสระ และสารพิษต่างๆภายในเซลล์ เช่น ยาฆ่าแมลง และกำจัดวัชพืช โลหะหนัก เป็นต้น ซึ่งอัตราส่วนนี้จะแสดงถึงความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และการกำจัดสารพิษของร่างกาย กระบวนการต้านอนุมูลอิสระหรือสารพิษจะมีหมู่ซัลไฮดริก (SH) ทำหน้าที่สำคัญในการยึดเกาะกับอนุมูลอิสระหรือสารพิษภายในเซลล์ กลายเป็นสาร GSSG หรือสารในกลุ่มของกรดเมอแคพทูริค (mercapturic acid) ที่สามารถละลายน้ำได้ดี และกำจัดออกจากร่างกายต่อไป
2. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
GSH มีความสำคัญต่อระบบภูมิต้านทานทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์ลิมโฟซัยชนิดที (T cell) และ polymorpho nuclear leukocytes ช่วยจับกินสิ่งแปลกปลอม และต้านการติดเชื้อ Influenza virus ได้
โดยปริมาณ GSH ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณ TH cell (CD4+ ) และ Cytotoxic T cell (CD8+ ) ซึ่ง TH cell ทำหน้าที่ในการช่วย เซลล์ลิมโฟซัยชนิดบี ในการสร้างแอนติบอดี ทั้งนี้ การทำงานของกลูต้าไธโอนในการเสริมสร้างภูมิต้านทานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากได้รับวิตามินซี และอีในปริมาณที่เพียงพอ
3. เสริมสร้าง และซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ
กลูต้าไธโอนทำหน้าที่ในการเสริมสร้างเซลล์ และซ่อมแซมเซลล์ ด้วยการทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเสริมสร้างโปรตีน การเสริมความแข็งแรงของเม็ดเลือดแดง ช่วยกระตุ้นการซึมผ่านของสารอาหารเข้าสู่เซลล์ ปกป้อง และซ่อมแซมดีเอ็นเอไม่ให้ถูกทำลาย รวมถึงการป้องกันการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง
หน้าที่ดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ทำให้กลูต้าไธโอนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆไม่โทรมเร็ว ดูอ่อนเยาว์ ร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพที่ดี
กลูต้าไธโอนเป็นสารสำคัญที่ทำหน้าที่ cofactor และช่วยในการคงตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดง ในรูปของรีดักซิ่งกลูต้าไธโอน หากมีปริมาณน้อยจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย การควบคุมระดับกลูต้าไธโอนให้เป็นสารรีดิวซ์จะอาศัยเอนไซม์ NADPH ที่เกิดจากฟอสโฟกลูโคเนต และเอนไซม์กลูต้าไธโอนรีดักเตส (glutathione reductase)
สำหรับบางคนที่ขาดเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase ทำให้ไม่สามารถสร้าง NADPH ได้เพียงพอจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกง่าย และทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้
เนื้อเยื่อที่เกิดภาวะเครียดออกซิเดชันจะทำให้เกิดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) เกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อ ทั้งนี้ ร่างกายจะอาศัยกลูต้าไธโอนเข้าสลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ให้กลายเป็นน้ำโดยใช้เอนไซม์ glutathione peroxidase เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
นอกจากนั้น กลูต้าไธโอนยังทำหน้าที่รักษาสภาพของฮีโมโกลบินที่มีเหล็กเป็นแกนกลางของโมเลกุล ที่เกิดสภาพภาวะเครียดออกซิเดชันที่เกิดจากฮีโมโกลบินขนส่งออกซิเจน และการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพของเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อีกทาง
ในวัยผู้สูงอายุจะพบปริมาณกลูต้าไธโอนในร่างกายที่น้อยลงตามอายุที่มากขึ้น มีผลต่อความแข็งแรงของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ทำให้แตกสลายง่าย นอกจากนั้น ปริมาณกลูต้าไธโอนที่น้อยลงตามวัยยังมีผลต่อความเปร่งปรั่ง ความเนียนขาวของผิวพรรณ จึงมักทำให้แลดูแก่ ผิวหนังหยาบก้าน ดำคล้ำง่ายเมื่ออายุสูงขึ้น ทั้งนี้ ภาวะการขาดกลูต้าไธโอนจะส่งผลต่อการทำงานของวิตามิน ซี และวิตามิน อี บกพร่องไป
advertisement
การนำมาใช้ประโยชน์
กลูต้าไธโอนที่มีจำหน่ายในปัจจุบันมักอยู่ในรูปผงหรือสารละลาย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกลูต้าไธโอน มีชื่อทางการค้า คือ Tationil มักมีจุดประสงค์ในด้านต่างๆ คือ
1. เพื่อผิวขาว
การใช้กลูต้าไธโอนเพื่อผิวขาวมักใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผงในแคปซูลหรือการเข้ารับการฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรง ซึ่งความจริงแล้วการใช้ในลักษณะนี้ เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้กลูต้าไธโอน โดยผิวขาวที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณกลูต้าไธโอนสูงกว่าภาวะปกติมีผลยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เกี่ยวข้องกับเม็ดสีผิวทำให้เม็ดสีผิวเปลี่ยนจากสีน้ำตาลดำเป็นสีขาวชมพู ซึ่งจะมองดูผิวพรรณออกขาวชมพูมากขึ้น
กระบวนการยับยั้งการสร้างเม็ดสีของกลูต้าไธโอน
1. เข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรสิเนส สำหรับการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ด้วยการจับที่บริเวณมีทองแดงเป็นส่วนประกอบ
2. เข้าเปลี่ยนกระบวนการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน จากสีสีน้ำตาลดำเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง
3. เข้ากำจัดสารอนุมูลอิสระ และเสารปอร์ออกไซด์ ที่มีส่วนกระตุ้นเอนไซม์ไทโรสิเนสในกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน
4. ปรับเปลี่ยนสาร และเพิ่มประสิทธิภาพความเป็นพิษต่อเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานิน
2. อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
ด้วยหน้าที่ของกลูต้าไธโอนที่กล่าวมาข้างต้นมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ ได้แก่ การต้านอนุมูลอิสระ และกำจัดสารพิษภายในเซลล์ การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และการเสริมสร้าง และซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ ซึ่งเป็นที่ปราถนาของคนทั่วไปที่จะทำให้ตนมีสุขภาพที่ดี
ในกลุ่มคนบางรายอาจมีภาวะกลูต้าไธโอนในร่างกายต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องเสริมกลูต้าไธโอนให้ร่างกายเพิ่มขึ้นมักใช้ผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพหรือการฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรง
3. การลดพิษ และขับสารพิษ
การลดพิษ และกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น เนื่องจากกลูต้าไธโอนช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับการเสียหายจากพิษ และสามารถทำปฏิกิริยาลดพิษจากสารพิษที่ได้รับ โดยเฉพาะหมู่ซัลไฮดริล (-SH) ในกลุ่มของสารซีสตีอีน (cystenine) จะมีบทบาทสำคัญในการคอนจูเกชันกับสารพิษต่างๆที่แปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ด้วยการสร้างพันธะโควาแลนต์นำพาสารเหล่านั้นออกสู่ร่างกายหรือเปลี่ยนรูปสาร เป็นสารในกลุ่มของกรดเมอแคพทูริค (mercapturic acid) ที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี ทำให้สามารถกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังใช้กลูต้าไธโอนฉีดเข้าเส้นเลือดสำหรับการรักษาผู้ที่ได้รับพิษจากโลหะหนัก เช่น พิษจากแคดเมียม พิษจากตะกั่ว พิษจากปรอท เป็นต้น นอกจากนี้ยัง พบว่า กลูจ้าไธโอนสามารถลด และป้องกันการถูกทำลายของตับจากพิษของแอลกอฮอล์ พิษของบุหรี่ พิษของสารเคมี และพิษของยาบางชนิด
4. การใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้แก่
– การใช้รักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน เนื่องจากกลูต้าไธโอนมีคุณสมบัติในการช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ โดยเฉพาะเซลล์ประสาท และต้านการเสื่อมของเซลล์ได้
ลักษณะการนำมาใช้
1. การรับประทาน ทั้งในรูปชนิดผง และชนิดเม็ด เพื่อให้เกิดการดูดซึมบริเวณลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด และเซลล์ต่อไป
2. การฉีดเข้าเส้นเลือดในรูปสารละลายของน้ำเกลือ ซึ่งต้องใช้อัตราส่วนการละลายที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถซึมเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อัตราการเจือจางในปริมาณที่พอเหมาะสมจะทำให้การทำงานของกลูต้าไธโอนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น
ข้อควรระวังในการใช้
1. กลูต้าไธโอนในรูปผลิตภัณฑ์ยาเม็ดหรือผงโดยการรับประทานจะเกิดผลน้อย เนื่องจากจะถูกย่อยสลายเป็นสารอื่นได้ง่ายในระบบทางเดินอาหาร จึงมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการดูดซึมได้ด้วยการหลีกเลี่ยง และลดปริมาณการถูกย่อยบริเวณกระเพาะอาหารให้สามารถส่งผ่านไปยังบริเวณลำไส้ที่มีการดูดซึมสารเข้าสู่กระแสเลือดให้มากที่สุด อาทิ การรับประทานยาหลังรับประทานอาหาร การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ และดื่มน้ำตามเป็นระยะ หลังจากดื่มน้ำครั้งแรก เพื่อลดปริมาณความเข้มข้นของกรด และช่วยการดูดซึมกลูต้าไธโอนบริเวณลำไส้ให้มากที่สุด
2. การฉีดกลูต้าไธโอนเข้าเส้นเลือดในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการช็อค ความดันต่ำ หายใจลำบากและเสียชีวิตได้ง่าย
3. ผิวขาวที่อาจเกิดขึ้นจากผลการใช้กลูต้าไธโอนเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากหยุดใช้สีผิวจะกลับมาตามสภาพเดิม รวมถึงอาจมีอาการแพ้สำหรับบางรายที่มีภูมิไวต่อสารนี้
4. การใช้กลูต้าไธโอนในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เม็ดสีที่ตาลดลง ตารับแสงได้น้อย มีผลต่อการมองเห็นในระยะต่อมา
5. การใช้กลูต้าไธโอนในปริมาณมากจะทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของกลูต้าไธโอนเอง ส่งผลกลับกันเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
6. การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กลูต้าไธโอนในบางแห่งอาจมีการโฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริงหรือผลิตภัณฑ์ที่ซื้ออาจเป็นของปลอมที่หากใช้แล้วอาจมีผลต่อร่างกายได้ซึ่งต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง
7. การใช้สารกลูต้าไธโอนทั้งการรับประทานหรือการฉีด ควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการฉีดควรได้รับการปฏิบัติจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
8. การใช้สารกลูต้าไธโอนมักเห็นผลดีในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ และจะมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อใช้ในวัยที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากร่างกายมีการเสื่อมของเซลล์จึงยากแก่การฟื้นฟู และปริมาณสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกลูต้าไธโอนจะน้อยลงตามวัย ดังนั้น การใช้ในวัยผู้ใหญ่อายุมากหรือวัยผู้สูงอายุจึงไม่มีประสิทธิภาพนัก
9. หากพบมีอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

กลูตาไธโอน ตอนที่ 2 : ยาฉีด ยากิน และยาทา

ด้วยคุณประโยชน์มหัศจรรย์ของสารกลูตาไธโอน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำการสังเคราะห์สารกลูตาไธโอนเลียนแบบธรรมชาติที่ผลิตจากเซลล์ในร่างกายขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ดังนี้
ข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์ 

สารนี้ ในบางประเทศได้รับการรับรองให้ขึ้นเป็นทะเบียนยา และบางประเทศใช้เป็นอาหารเสริม แต่ในประเทศไทย สารชนิดนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.

มีรายงานการนำสารกลูตาไธโอน มาใช้เป็นยารักษาโรคหลายกรณี เช่น เกี่ยวกับระบบเส้นประสาทบกพร่อง โรคพากินสัน โรคอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้รักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนัก พิษจากยาพาราเซ็ทตามอล

ข้อมูลการใช้สารกลูตาไธโอน ในการรักษาฝ้า และทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่งเหมือนมีแสงออร่า นั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้สารนี้ที่ใช้รักษาโรคอื่นแล้วผิวขาวขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เมื่ออาการข้างเคียงหายไป เม็ดสีที่ผิวหนังก็จะกลับเข้มขึ้นดังธรรมชาติเดิม
ประโยชน์การชะลอวัย เป็นยาอายุวัฒนะ

การที่กลูตาไธโอนในร่างกายลดปริมาณลงในวัยสูงอายุ ซึ่งสามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้คนสูงอายุมีความต้านทานต่อโรคต่างๆน้อยลง ในทางตรงกันข้าม คนสูงอายุที่มีอายุยืนยาวและยังแข็งแรง มีสถิติพบว่าคนเหล่านั้นจะมีปริมาณกลูตาไธโอนในร่างกายสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ กลูตาไธโอนในร่างกายกับสุขภาพนั่นเอง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ากลูตาไธโอนมีส่วนสำคัญในขบวนการชะลอวัยของร่างกาย นักกีฬาและคนที่สุขภาพดีออกกำลังกายเป็นประจำ จะพบว่ามีปริมาณ กลูตาไธโอนค่อนข้างสูงอย่างสม่ำเสมอ มีสถิติทางการแพทย์ที่พบว่าอาการป่วยด้วยโรคต่างๆเชื่อมโยงกับการที่ร่างกายขาดกลูตาไธโอน หรือ มีภาวะที่ร่างกายสังเคราะห์ กลูตาไธโอนได้ต่ำกว่าปกติที่ร่างกายควรได้รับ เช่น ภาวะโรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคปอด และในผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่มีกรรมพันธุ์เกี่ยวกับความบกพร่องของกลูตาไธโอนมักจะมีปัญหาโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท กลไกสำคัญของกลูตาไธโอนในการต้านหรือชะลอวัยน่าจะมาจากคุณสมบัตของการมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสสระชนิดเข้มข้นที่สังเคราะห์ได้จากทุกเซลล์ในร่างกายโดยธรรมชาตินั่นเอง การรักษาระดับกลูตาไธโอนในร่างกายจึงสำคัญต่อการขบวนการชะลอวัย
ยาฉีด และ อันตรายที่เกิดจาการฉีดกลูตาไธโอน

เนื่องจากตัวยากลูตาไธโอน มีความไม่คงตัวในกระแสเลือด สลายตัวได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นผู้ที่หวังผลในการรักษา จะต้องให้แพทย์ฉีดบ่อยๆหรือถี่ๆ เช่น ในกรณีของการฉีดเข้าเส้นเลือดดำเพื่อหวังผลให้ผิวขาว โดยมากแพทย์มักจะฉีดร่วมกับวิตามินซี หากฉีดในความเข้มข้นสูง และฉีดอาทิตย์ละ 2 ครั้ง นอกจากจะเสียเงินมากแล้ว ที่สำคัญ การฉีดในความเข้มข้นสูง อาจทำให้ช็อค ความดันต่ำ เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง กล้ามเนื้อสั่น ประสาทหลอน หายใจติดขัด หลอดลมตีบ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และผู้ที่ได้รับยาฉีดนี้นานๆเป็นประจำ อาจทำให้เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้รับแสงได้น้อยลง เสี่ยงต่อการมองเห็นได้ในอนาคต ทางวารสารการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา จึงจัดสารกลูตาไธโอนเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางสายตา
ยาเม็ดสำหรับกิน

เนื่องจากโมเลกุลของกลูตาไธโอนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหาร นอกจากนี้โมเลกุลของกลูตาไธโอนยังถูกสลายตัวได้ง่ายในทางเดินอาหารอีกด้วย เราจึงไม่สามารถรับประทานกลูตาไธโอนโดยตรงเป็นอาหารเสริมได้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาน้ำเชื่อม ดังนั้น หากผลิตภัณฑ์โฆษณาว่า เป็นยาเม็ดกลูตาไธโอน ของแท้ ผู้บริโภคไม่ควรเสียเงินซื้อมากิน เพราะไม่ได้ผลทำให้ผิวขาว หรือไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อร่างกาย

ปัจจุบันที่พบทั่วไปในท้องตลาดเป็นยาเม็ดที่ อย.อนุญาตให้ขายเป็นอาหารเสริมนั้น ที่จริงเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กลูตาไธโอน (Glutathione Precursors) คือ อมิโนแอซิด เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) ซึ่งโมเลกุลชนิดนี้ จะสามารถถูกดูดซึมเข้าทางเดินอาหารได้ง่ายและรวดเร็ว และจะไปรวมตัวกับโปรตีนอีก 2 ชนิด คือ อมิโนแอซิด ไกลซิน (Glycine) และ กลูตาเมท (Glutamate) ที่มีอยู่มากมายในกระแสเลือดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การรวมตัวของอมิโนแอซิดทั้ง 3 ชนิด ก่อให้เกิดเป็นโมเลกุลกลูตาไธโอนในกระแสเลือด

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์จะกินอาหารเสริมชนิดนี้เป็นประจำ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในกระแสเลือด เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอวัย และเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย หากรับประทานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น มึนงง ปวดหัว ตาพล่ามัว และอาจมีสารตกค้าง ทำให้เป็นนิ่วที่ไต และกระเพาะปัสสวะอีกด้วย
ยาทาผิวหนัง

สารกลูตาไธโอน เมื่อนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ประเภทครีม หรือเจล สำหรับทาผิวหนัง เพื่อหวังให้ผิวขาวนั้น จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เพราะโมเลกุลสารนี้ค่อนข้างใหญ่ ไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้
ข้อควรระวังในการใช้กลูตาไธโอนในหญิงตั้งครรภ์

แม้ว่ากลูตาไธโอนจะถูกสังเคราะห์และพบมากในเกือบทุกเซลล์ในร่างกายคนเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าสารกลูตาไธโอนจะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร สารจากธรรมชาติมากมายที่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเหล่านี้เป็นอาหารเสริมในระหว่างตั้งครรภ์จะปลอดภัยที่สุดนอกเสียจากว่าได้รับการแนะนำให้ใช้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์เป็นพิเศษ
ข้อควรระวังในการใช้กลูตาไธโอนในเด็กเล็กและทารก

การใช้กลูตาไธโอนและสารตั้งต้น เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับรายงานการแนะนำให้ใช้ในเด็กเล็กและทารก
เอกสารอ้างอิง
  1. Lomaestro B, Malone M. Glutathione in health and disease. Pharmacotherapeutic Issues. Ann Pharmacother 29: 1263-73, 1995.
  2. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55

กลูตาไธโอน ตอนที่ 1 : ต้านโรค ชะลอวัย

รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กลูตาไธโอน (Glutathione) นับเป็นสารมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่ร่างกายคนเราสามารถผลิตขึ้นเองโดยธรรมชาติ มีคุณอนันต์ต่อสุขภาพ ผู้ที่แข็งแรงและมีอายุยืนยาว จะสามารถตรวจพบสารกลูตาไธโอนในร่างกายในปริมาณสูง ตรงกันข้ามกับคนป่วยและผู้ที่สุขภาพไม่ดี จะพบว่าปริมาณกลูตาไธโอนในร่างกายต่ำมาก

เรามาทำความรู้จักกับสารชนิดนี้ให้เข้าใจมากขึ้น ทำอย่างไรให้ร่างกายสร้างกลูตาไธโอนได้เองมากๆ ให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง นอกจากจะช่วยชะลอวัยแล้ว ยังช่วยให้อายุยืนยาวอีกด้วย
สารกลูตาไธโอน คืออะไร

เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยกรดอมิโนที่สำคัญ 3 ชนิดรวมตัวกันอยู่ คือ ซิสเตอิน (Cystein) ไกลซิน (Glycine) และ กลูตาเมท (Glutamate)

เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายสามารถผลิตกลูตาไธโอนได้เอง และถูกผลิตมากที่สุดที่ตับ ปอด ไต ม้าม ตับอ่อน และเลนส์แก้วตา สารมหัศจรรย์นี้เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ร่างกายแข็งแรง หน้าที่สำคัญ 4 ประการคือ
  1. สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย โดยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งไวรัส แบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมอื่นๆที่เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งเซลล์มะเร็ง
  2. ทำหน้าที่กำจัดสารพิษที่ผ่านเข้าในร่างกาย โดยจะจับสารพิษที่ไม่ละลายน้ำให้เปลี่ยนเป็นสารที่ละลายน้ำ และกำจัดออกทางไตหรือทางลำไส้ ดังนั้นตับและไตซึ่งเป็นอวัยวะที่มีของเสียและสารพิษสะสมมากที่สุด จึงพบ กลูตาไธโอนถูกผลิตออกมามากที่สุด เพื่อทำหน้าที่กำจัดของเสียนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน ปอด ก็พบกลูตาไธโอนในปริมาณสูง เพื่อกำจัดของเสียจากที่คนเราหายใจเอาฝุ่นละอองและควันพิษเข้าไปที่ปอดนั่นเอง
  3. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์แรงที่สุด ผลิตขึ้นเองโดยทุกเซลล์ในร่างกายโดยธรรมชาติ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปกป้องเซลล์ให้แข็งแรง ช่วยการไหลเวียนของระบบเลือด รักษาการทำงานของหัวใจและปอด ช่วยชะลออายุของเซลล์ทุกเซลล์ และชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกายและของอวัยะวะทุกส่วน
  4. ช่วยกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซม ‘เซลล์และดีเอนเอที่สึกหรอ นับเป็นกุญแจสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนและไขมัน กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ชนิดต่างๆ


นักวิจัยพบว่า เนื้อสมอง ระบบเส้นประสาท เต้านม และต่อมลูกหมาก มีองค์ประกอบส่วนมากเป็นไขมัน ดังนั้นจึงมีแนวโน้มเป็นแหล่งสะสมของสารพิษหรือสารที่ไม่ละลายน้ำแต่ละลายสะสมในไขมัน นักวิจัยตั้งของสังเกตุว่า โอกาสการเกิดโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก พบเห็นมากขึ้นทั่วโลก เนื่องจากสารพิษจากสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่เป็นสารพิษที่ละลายสะสมในไขมันนั่นเอง 

ออกซิเจนที่คนเราหายใจเข้าไปร่างกาย ประมาณ 2 % ของออกซิเจนที่หายใจเข้าไป จะถูกเปลี่ยน เป็นอนุมูลอิสระ หากอนุมูลอิสระนี้อยู่ในร่างกาย และไม่ถูกทำลาย จะส่งผลเสียอย่างมากต่อร่างกาย โดยอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะไปทำลายผนังเซลล์ และทำให้ดีเอนเอของเซลล์ชำรุดเสียหาย ผลคือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะบกพร่อง อ่อนไหวต่อการเกิดโรคต่างๆ และแก่เร็ว 

สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี การกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อากาศเป็นพิษ ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง รังสียูวี เครื่องดื่มแอลกอฮอล อาหารที่มีน้ำตาลสูง ควันบุหรี่ ยาเสพติด และ การบริโภคยารักษาโรคชนิดต่างๆมากเกินไป ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ก่อให้ร่างกายเกิดภาวะสะสมอนุมูลอิสระมากๆ 

เพื่อต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่สะสมจากปัจจัยต่างๆข้างต้น ร่างกายคนเราจะใช้สารต้านอนุมูลอิสระคือ ‘กลูตาไธโอน ที่ทุกเซลล์ผลิตขึ้นเองโดยธรรมชาติ ในการต่อต้านทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น หากมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นมากและตลอดเวลา เซลล์ทุกเซลล์ต้องทำงานหนักเพื่อผลิตกลูตาไธโอน มาจับและล้างอนุมูลอิสระให้หมดไปหรือให้เหลือน้อยที่สุด 

กลูตาไธโอน คือ สารต้านอนุมูลอิสระ ที่ถูกสร้างและใช้มากที่สุดในร่างกาย นับเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องสายตาของคนเรา ช่วยเปลี่ยนแป้งที่สะสมในร่างกายให้เป็นพลังงาน และป้องกันการสะสมของไขมันซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ กลูตาไธโอนทำหน้าที่ปกป้องทุกเซลล์ของร่างกาย แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณกลูตาไธโอน ในร่างกายจะลดน้อยลง หรือถูกผลิตขึ้นช้าลงและมีปริมาณน้อยลง คนเราเมื่อย่างเข้าอายุ 20 ปี ปริมาณกลูตาไธโอน ในร่างกายจะลดลงเฉลี่ย 8-12% ต่อ 10 ปี แต่หากร่างกายมีการบริโภคยาหรือเคมีมากเกินไป ปริมาณการลดลงของกลูตาไธโอนในร่างกายจะรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมเร็วก่อนวัย และโรคต่างๆเข้าแทรกแซงได้ง่าย
เอกสารอ้างอิง
  1. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55.

กลูตาไธโอน (glutathione) ช่วยทำให้ขาวจริงหรือ??

  กลูตาไธโอน (glutathione) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เซลล์ในร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เอง มีคุณสมบัติเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการปกป้องเนื้อเยื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และที่สำคัญยังช่วยตับในการทำลายและขจัดสารพิษออกจากร่างกายด้วย

               ในทางการแพทย์พบว่ามีการนำกลูตาไธโอนมาทดลองใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติข้อบ่งใช้จากองค์การอาหารและยา เช่น ภาวะเป็นหมันในเพศชาย ปลายเส้นประสาทอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก วิธีการรักษามักทำโดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือเข้าที่กล้ามเนื้อ ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่น่าแปลกใจ คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉีดกลูตาไธโอนนั้นมีสีผิวที่ขาวขึ้น เนื่องมาจากกลูตาไธโอนสามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) ได้ และส่งผลให้เม็ดสีของผิวหนังเปลี่ยนจากเม็ดสีน้ำตาลดำเป็นเม็ดสีชมพูขาว ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้พยายามนำผลข้างเคียงของยามาใช้ในการทำให้ผิวขาวขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการนำยามาใช้ในทางที่ผิดอีกรูปแบบหนึ่ง โดยในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือยืนยันหรือรับรองประสิทธิภาพและประโยชน์ของกลูตาไธโอนในการทำให้ผิวขาวได้อย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่กลูตาไธโอนไม่ผ่านการรับรองข้อบ่งใช้โดยองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับทำให้ผิวขาว

               ผลิตภัณฑ์กลูตาไธโอนที่พบในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นเอยู่ในรูปยาเม็ดหรือผงละลายน้ำสำหรับรับประทาน ซึ่ง กลูตาไธโอนนี้สามารถถูกทำลายได้ในทางเดินอาหารของมนุษย์ ดังนั้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานกลูตาไธโอนในรูปแบบของยารับประทานนั้นแทบจะไม่มีเลย ที่ผ่านมาจึงพบว่ามีผู้พยายามนำกลูตาไธโอนในรูปแบบยาฉีดมาใช้แทนการรับประทานกันมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ากลูตาไธโอนชนิดฉีดนั้นมีประสิทธิภาพในการทำให้ผิวขาวได้ดีกว่าและเห็นผลเร็วกว่ากลูตาไธโอนชนิดรับประทาน

               ประเด็นสำคัญของการใช้ยาฉีดกลูตาไธโอนโดยเฉพาะการฉีดเข้าหลอดเลือดดำนั้น คือ ความปลอดภัยจากการฉีดยา เนื่องจากผิวที่ขาวขึ้นจากกลูตาไธโอนนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น หากต้องการให้ผลคงอยู่ไปตลอดจำเป็นต้องได้รับการฉีดซ้ำเป็นระยะ ทำให้มีการสะสมยาในร่างกายมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ นอกจากนี้การฉีดยาจำเป็นต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการให้ยา เช่น การฉีดยาในอัตราที่เร็วเกินไป การติดเชื้อในกระแสเลือดจากเครื่องมือที่ไม่สะอาดเ การเกิดฟองอากาศอุดตันหลอดเลือดเนื่องจากผู้ฉีดยาไล่ฟองอากาศในเข็มฉีดยาไม่หมด เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ที่ได้รับยาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

               ถึงแม้ว่ากลูตาไธโอนเป็นสารที่ร่างกายสร้างได้เองตามธรรมชาติ แต่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ กลูตาไธโอนชนิดฉีดหรือชนิดรับประทานเพื่อให้ผิวขาวใสนั้นยังไม่มีการพิสูจน์ผลที่ชัดเจน ความปลอดภัยในการใช้ยาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง และพึงระลึกไว้เสมอว่า “ ไม่มียาชนิดใดในโลกที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ ” ดังนั้นก่อนการใช้ยาใดๆ ก็ตามควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดเสียก่อนเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

Reference:
1. Villarama CD, Maibach HI. Glutathione as a depigmenting agent: an overview. Int J Cosmet Sci 2005;27:147–53.

2. พิมลพรรณ พิทยานุกุล. สารกลูตาไธโอน ช่วยให้ขาวได้จริงหรือ [Online]. 2008 Apr 22 [cited 2010 Feb 5]. Available from: URL: http://www.consumerthai.org/old/cms/index.php?option=com_ content&task=view&id=1055&Itemid=38

กลูต้าไธโอน, กลูตาไธโอน, กลูตา, กลูต้า, ยาขาว, ยาผิวขาว, Glutathione, Gluta,

กลูตาไธโอน (อังกฤษglutathione, GSH) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในพืช สัตว์ เห็ดราและแบคทีเรียและอาร์เคียบางชนิด ทำหน้าที่ป้องกันองค์ประกอบสำคัญของเซลล์ที่เกิดจากออกซิเจนที่ไวต่อปฏิกิริยา (reactive oxygen species) เช่น อนุมูลอิสระหรือเปอร์ออกไซด์[2] กลูตาไธโอนประกอบด้วยเพปไทด์สามโมเลกุล (tripeptide) คือ ซีสเตอีน กรดกลูตามิก และไกลซีน มีพันธะเพปไทด์แกมมาระหว่างหมู่คาร์บอกซิลของหมู่ข้างกลูตาเมตและหมู่เอมีนของซิสทีน และพันธะเพปไทด์ธรรมดาระหว่างซีสทีนกับไกลซีน
หมู่ไธออลเป็นตัวรีดิวซ์ ซึ่งมีอยู่ที่ความเข้มข้นประมาณ 5 มิลลิโมลาร์ในเซลล์สัตว์ กลูตาไธโอนรีดิวซ์พันธะไดซัลไฟด์ที่เกิดขึ้นในโปรตีนไซโทพลาสซึมไปยังซีลเตอีนโดยทำหน้าที่เป็นตัวให้อิเล็กตรอน ในกระบวนการนี้ กลูตาไธโอนจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปออกซิไดซ์ กลูตาไธโอนไดซัลไฟด์ (GSSG) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า แอล-(–)-กลูตาไธโอน
เมื่อถูกออกซิไดซ์แล้ว กลูตาไธโอนสามารถถูกรีดิวซ์กลับได้โดยกลูตาไธออนรีดักเทส (glutathione reductase) โดยอาศัย NADPH เป็นตัวให้อิเล็กตรอน[3] อัตรากลูตาไธโอนรูปรีดิวซ์ต่อกลูตาไธโอนรูปออกซิไดซ์มักใช้เป็นการวัดความเป็นพิษของเซลล์[4]
นอกจากนี้ กลูตาไธโอนช่วยให้ตับขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังนำมารักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ข้ออักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคตับ โรคไต โรคเอดส์ ภาวะเป็นหมันในเพศชาย และภาวะหูตึงจากเสียงดัง ผลข้างเคียงยับยั้งการสังเคราะห์เมลานิน

ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/กลูตาไธโอน